Phones





OR เดินหน้าขาย IPO - ลุยลงทุน

2020-04-29 09:06:52 671



OR เดินหน้าขาย IPO - ลุยลงทุน (สกุ๊ปพิเศษ)


การขยายการลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ นอกจากใช้เงินสดที่มีอยู่ในมือ และการกู้เงินมาลงทุนแล้ว การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้เกิดความคล่องตัวในการขยายการลงทุน


ดังนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เริ่มมีแผนนำบริษัทลูกอย่าง "บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR" ระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มาตั้งแต่ปี 2560 กระทั่งล่าสุดเมื่อต้นเดือน เม.ย. 63 ปตท.ได้ยื่นแบบเสนอขายหุ้น IPO เพื่อระดมทุนฯ แล้ว โดยมี บล.ฟินันซ่า, บล.ภัทร, บล.บัวหลวง, บล.กสิกรไทย และ บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน



ปัจจุบัน OR มี "นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์" เป็นแม่ทัพใหญ่ ในตำแหน่ง "ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่"


เดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO
สำหรับแบบเสนอขายหุ้น IPO ของ OR นั้น จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของบริษัท แบ่งเป็น เสนอขายไม่เกิน 2,400 ล้านหุ้น ให้กับประชาชนทั่วไป และไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท.ตามสัดส่วนการถือหุ้น และจัดสรรไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อนำไปรองรับการใช้สิทธิจัดสรรหุ้นเกินกว่าจำนวนที่เสนอขายหากมีการใช้สิทธิ


วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้เงินในช่วงปี 64-67 เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ธุรกิจค้าปลีกสินค้า และบริการ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ รองรับความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ, การขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน, การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน เพื่อสนับสนุนธุรกิจน้ำมัน, การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในตลาด ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ



นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า การนำ OR เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย OR ยังมีแผนลงทุน 77,413 ล้านบาทในช่วง 4 ปี (64-67) ส่วนใหญ่เป็นการขยายสถานีบริการน้ำมัน 137 แห่งต่อปี ขยายร้านค้าปลีก ร้านอาหาร-ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ คาเฟ่อเมซอน 437 แห่งต่อปี รวมถึงการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ และลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งประกอบด้วย การติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ในสถานีบริการน้ำมัน ส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ มีแผนจะเปิดร้านอาหารเท็กซัส ชิคเก้น จำนวนประมาณ 40 แห่งต่อปี และร้านอาหารฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ จำนวน 35 แห่งต่อปี


นอกจากนี้ OR ยังมีแผนจะขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven รวมถึงมีแผนจะขยายธุรกิจการบริหารจัดการพื้นที่ของบริษัท ตลอดจนมีแผนจะลงทุนเพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ ทั้งในรูปแบบของการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เป็นต้น


สำหรับธุรกิจต่างประเทศ ในช่วงปี 63-67 บริษัทมีแผนจะเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ในต่างประเทศ ประมาณ 71 แห่งต่อปี ในการขยายธุรกิจ บริษัทคาดว่าจะรักษาสัดส่วนระหว่างสถานีบริการน้ำมันประเภท DODO ต่อสถานีบริการน้ำมันประเภท COCO เป็นสัดส่วนประมาณ 80:20



พื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง
ณ สิ้นปี 62 นั้น OR มีสถานีบริการน้ำมัน ภายใต้แบรนด์ PTT Station จำนวน 1,911 แห่งทั่วประเทศ และยังเป็นผู้นำในตลาดพาณิชย์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศไทย โดยมีลูกค้าตลาดพาณิชย์มากกว่า 2,600 ราย มีร้านกาแฟอเมซอน จำนวน 2,912 สาขา และร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ จำนวน 281 ร้าน ซึ่งการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ที่ได้รับสิทธิอนุญาตแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ได้แก่ "เท็กซัส ชิคเก้น" แบรนด์ที่ได้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย ได้แก่ "ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ" และแบรนด์ที่เป็นเจ้าของ ได้แก่ "เพิร์ลลี่ ที" ส่วนธุรกิจศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto มีจำนวน 50 แห่งในประเทศไทย รวมถึงมีร้านสะดวกซื้อจำนวน 1,880 ร้าน ซึ่งจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าพื้นฐานที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ "จิฟฟี่" ที่บริษัทเป็นเจ้าของ และแบรนด์ "7-Eleven" ตามเงื่อนไขของสัญญาหลักความร่วมมือแต่เพียงผู้เดียวกับ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านร้านค้าที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการภายในเครือข่ายของบริษัทและยังมีการจำหน่ายที่ร้านค้านอกสถานีบริการด้วย


นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการการบริหารจัดการพื้นที่โดยการให้บริการเช่าพื้นที่และบริการอื่นๆ แก่ร้านค้าภายใต้แบรนด์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี เช่น Black Canyon, Chester’s Grill, S&P, The Pizza Company, เจ้าสัว และยังมีร้านค้าภายใต้แบรนด์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี เช่น A&W, Burger King, KFC, McDonalds เพื่อให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมันของบริษัท และในพื้นที่เช่าอื่นที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เช่น จุดแวะพักระหว่างการเดินทาง (Rest Area) เป็นต้น



ส่วนการขยายธุรกิจในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว โดยสิ้นปี 62 ธุรกิจต่างประเทศของ OR ในประเทศดังกล่าว ประกอบไปด้วยสถานีบริการน้ำมันจำนวน 302 แห่ง ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto จำนวน 4 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอนจำนวน 216 ร้าน และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่จำนวน 79 ร้าน ไม่รวมร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 1 แห่งในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นร้านที่ดำเนินการในช่วงทดลองตลาด โดยบริษัทมุ่งมั่นจะขยายธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ในต่างประเทศ


ทั้งนี้ เพื่อเป็นสร้างเครือข่ายธุรกิจให้แข็งแกร่ง OR ได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทมีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการกระจายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ครอบคลุม ณ สิ้นปี 62 บริษัทมีคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว คลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และคลังเก็บผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำนวน 70 แห่ง แบ่งเป็น คลังเก็บผลิตภัณฑ์ 53 แห่งในประเทศไทย และคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 17 แห่งในฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว โดยคลังเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้เชื่อมต่อกับเครือข่ายการจัดเก็บและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทั้งทางท่อขนส่ง ทางเรือ ทางรถ และทางรถไฟ


ด้วยเครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุม และฐานะที่แข็งแกร่ง เชื่อว่า OR จะเป็นอีกหุ้น IPO ที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนแน่นอน 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews