Phones





ครม.อนุมัติ4.2หมื่นล.ลุยมาตรการเยียวยาปชช.

2021-07-13 17:07:27 5997



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบ 4.2 หมื่นล้านบาท เดินหน้ามาตรการเยียวยาปชช.ในพื้นที่ 10 จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์ พร้อมลดค่าน้ำ-ไฟทั่วประเทศ 2 เดือน
 
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา อย่างน้อย 14 วัน
 
สำหรับมาตรการจะประกอบด้วยการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ประชาชนตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.-25 ก.ค. นี้ วงเงิน 30,000 ล้านบาท และมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ วงเงิน 12,000 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 42,000 ล้านบาท
 
โดยส่วนแรกในระยะเร่งด่วน จะให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งจะขยายเพิ่มเติมอีก 5 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 2.สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ 3.สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 4.สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ 5.สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โดยระยะเวลาการช่วยเหลือเป็นเวลา 1 เดือน ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือนั้น หากเป็นกลุ่มแรงงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,500 บาทต่อเดือน จำนวน 1 เดือน
 
ทั้งนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนประเภทดังกล่าว ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐรวมไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคนจำนวน 1 เดือน
 
ในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ มาตรา 40 สัญชาติไทย ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 จำนวน 1 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ที่ยังประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน ให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค. นี้เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทจำนวน 1 เดือน
 
ขณะที่ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ที่มีลูกจ้างแต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ภายในเดือนก.ค. นี้ เพื่อให้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน 1 เดือน ทั้งนี้ ลูกจ้างดังกล่าวจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม เนื่องจากคุณสมบัติยังไม่ได้ครบตามเงื่อนไข ทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือ
 
สำหรับกรณีที่เป็นผู้ประกอบการ ที่ไม่มีลูกจ้างแต่ยังอยู่ในระบบประกันสังคม ให้เตรียมหลักฐานสำหรับการลงทะเบียนการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือนก.ค. นี้ เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
 
ในส่วนของผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน กรณีที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อผู้ประกอบการจะได้รับเงินตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คนในอัตรา 3,000 บาทต่อหัว/สถานประกอบการ และลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน
 
สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศนั้น ประกอบด้วย มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า-น้ำประปา) ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ เป็นต้น
 
โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก 2.ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนนั้น จะแบ่งเป็น กรณีที่หน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งหนี้เดือนก.พ. ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง และกรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย ต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนก.พ. 64
 
ส่วนกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนแต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟเดือนก.พ.64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนก.พ. ในอัตรา 50% สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการไฟฟ้าของใบแจ้งเดือนก.พ.64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าในอัตรา 70% โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
 
ด้านผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง และกิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ได้รับยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด ไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. นี้ ขณะที่ค่าน้ำประปา ให้ลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนส.ค.-ก.ย. นี้
 
สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่น พิจารณาให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา เป็นต้น ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง