Phones





SKE ยกเลิกสัญญาจ้างอัดก๊าซ NGV กับ ปตท.ก่อนกำหนด

2024-08-28 18:27:34 303



นิวส์ คอนเน็คท์ - ที่ประชุมบอร์ด บมจ. สากล เอนเนอยี หรือ SKE Group ไฟเขียว ยกเลิกสัญญาจ้างอัดก๊าซธรรมชาติ พร้อมตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลัก เชียงรากน้อย กับ บมจ. ปตท. ซึ่งมีระยะสัญญาอีก 4 ปี 6 เดือน ก่อนครบกำหนด 16 ม.ค. 2572 รับเงิน 52 ล้านบาท นำไปขยายธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ด้วยการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการจัดการขยะ หรือใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้บางส่วน พร้อมดันผลงานกลับมาเทิร์นอะราวด์ เกาะติด กทม.เปิดประมูลบริหารจัดการขยะเขตสายไหม และเกณฑ์โรงไฟฟ้าขยะจาก กกพ.


เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สากล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ SKE Group เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 มีมติอนุมัติการยกเลิกสัญญาจ้างอัดก๊าซธรรมชาติพร้อมตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลักโดยเอกชน (เชียงรากน้อย) จังหวัดปทุมธานี และสัญญาที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง SKE กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งมีระยะเวลาตามสัญญาเหลืออยู่ประมาณ 4 ปี 6 เดือน (ครบกำหนดสัญญาวันที่ 16 มีนาคม 2572) 

ทั้งนี้ ในการยกเลิกสัญญาจ้างอัดก๊าซธรรมชาติ บริษัทตกลงรับข้อเสนอของ ปตท. ในการจ่ายค่าตอบแทนการลงทุน (AP) ตามระยะเวลาคงเหลือของสัญญา เป็นจำนวนเงิน 52 ล้านบาท 

การตัดสินใจในครั้งนี้ เกิดจากปริมาณการอัดก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ของสถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน (เชียงรากน้อย) จังหวัดปทุมธานี ลดลงต่ำกว่าปริมาณขั้นต่ำในทุกๆ เดือน ส่งผลให้มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายไม่สอดคล้องกับรายได้ในการจ้างอัดก๊าซธรรมชาติ และเมื่อพิจารณารวมกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการรับจ้างอัดก๊าซของเอกชน ดังนั้น ทาง SKE Group จึงตกลงยอมรับข้อเสนอและมีมติยกเลิกสัญญาดังกล่าว 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ลงนามสัญญาจนถึงปัจจุบันกว่า 15 ปี ที่ SKE Group ดำเนินธุรกิจให้บริการบรรจุก๊าซธรรมชาติก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ให้รถขนส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อขนส่งไปให้กับสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) นอกแนวท่อส่งก๊าซ รวมถึงดำเนินการปรับปรุงคุณภาพก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา SKE Group ดำเนินการกระจายความเสี่ยงด้วยการพัฒนาและลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านพลังงานและ Financial Technology จนทำให้ภายหลังการยกเลิกสัญญาจ้างอัดก๊าซธรรมชาติ บริษัทย่อยของ SKE Group ยังดำเนินการตามปกติ ทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่กระทิง ธุรกิจบริหารจัดการของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย โดยการคัดแยกและผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF ของบริษัท เอ็น15 เทคโนโลยี จำกัด “N15 Technology” และธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท แวนต้า แคปปิตอล จํากัด และหลังจากได้รับค่าตอบแทนการลงทุน (AP) ตามระยะเวลาคงเหลือของสัญญา เป็นจำนวนเงิน 52 ล้านบาท SKE Group ได้คาดการณ์ว่าจะนำเงินดังกล่าวมาขยายธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ทดแทน หรือไว้ใช้ชำระคืนหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระในบางส่วน รวมถึงการวางแผนการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนทำโครงการบนพื้นที่ตั้งของสถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน (เชียงรากน้อย)

สำหรับรายได้ที่จะเข้ามาจจำนวน 52 ล้านบาท จะแบ่งเป็น ช่วงไตรมาส1/2568 ประมาณ 26 ล้านบาท และไตรมาส 2/2568 อีกราว 26 ล้านบาท ซึ่งเมื่อตัดธุรกิจ NGV ออกไปแล้ว มั่นใจว่าผลประกอบการของ SKE ในอนาคตจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และมั่นใจว่าจะกลับมีมีกำไร (เทิร์นอะราวด์) ได้ในปี 2568 ขณะที่ปี 2567 มั่นใจว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ค้นปีคือ 540 ล้านบาท

นายจักรพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบัน SKE Group ให้ความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับขยะ โดยเหตุผลสำคัญที่ตัดสินใจให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดพลังงาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความต้องการในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาขยะล้นเมืองและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในทุกภูมิภาค การที่ N15 Technology มีศักยภาพในการจัดการขยะและอยู่ในธุรกิจขยะมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ไม่เพียงแค่จะตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งเป็นกระแสหลักที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น SKE Group เล็งเห็นถึงโอกาสในธุรกิจนี้จึงจะรุกเดินหน้าโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ

โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาโครงการเกี่ยวกับขยะในรูปแบบต่างๆ ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าในการเปิดประมูลหาผู้บริหารจัดการขยะในเขตสายไหม ของกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. และอยู่ระหว่างรอการออกประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน หรือ กกพ. เนื่องจากบริษัทฯ สนใจที่จะขยายการลงทุนและพัฒนาไปยังโรงไฟฟ้าขยะเช่นกัน