Phones





TQR ส่งซิก Q4/64 ธุรกิจประกันภัยโตต่อเนื่อง

2021-11-26 12:09:05 297



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - TQR ส่งซิก Q4/64 ธุรกิจประกันภัยต่อสัญญาณดี รุกพัฒนาประกันภัยรูปแบบใหม่ร่วมกับพันธมิตร

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TQR เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 4/64 จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการทำประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกันภัยสุขภาพและการประกันชีวิต ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต่างๆ มีความต้องการทำประกันภัยต่อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับ บริษัทฯ ได้ร่วมกับบริษัทประกันภัยชั้นนำ พัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน 

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4/64 บริษัท มุ่งเน้นพัฒนาประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ ทั้งการประกันภัยไซเบอร์ การประกันภัยพืชผล การประกันภัยปศุสัตว์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากร เครื่องมือ ระบบและกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อให้บริการแก่บริษัทคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
    
ในส่วนของ บริษัท อาร์สแควร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ล่าสุด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การใช้บริการระบบการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กับ สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เพื่อให้บริการ เรียนรู้-อบรม ในระบบออนไลน์ ที่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานผ่านใบหน้า "Face Detection and Face Recognition" เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาลูกค้ากลุ่มธุรกิจประกันภัยอีก 2-3 ราย คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าทั้ง ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจอื่นๆ ให้ความสนใจอีกจำนวนมาก

ด้านนางยุพเรศ พิริยะพันธุ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TQR กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจประกันภัยในปี 2565 โดยเฉพาะธุรกิจประกันวินาศภัย คาดว่า จะเติบโตระหว่าง 4.0% - 6.0% สะท้อนจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง รวมถึงผู้บริโภคตระหนักถึงการทำประกันภัยในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ การประกันภัยสุขภาพ การประกันชีวิต การประกันภัยอุบัติเหตุ และการประกันภัยทรัพย์สิน รวมถึงการประกันภัยสำหรับภัยอุบัติใหม่ (ประกันภัยไซเบอร์) คาดว่า จะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง