Phones





PACOอวดกำไรQ3/65 โต 36% บอร์ดไฟเขียวแจกวอร์แรนต์

2022-11-14 14:49:17 213



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – PACO โชว์รายได้-กำไรสุทธิโตต่อเนื่อง แย้มมีออร์เดอร์ล่วงหน้าเต็มยาวถึงกลางปี 66 ด้านบอร์ดอนุมัติแจกวอร์แรนท์ฟรี 5:1 รองรับธุรกิจขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมลุยขยายธุรกิจ OEM & REM ทั้งไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง มั่นใจรายได้ปี 65โต 20%
 
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายสมชาย เลิศขจรกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/65 บริษัทมีรายได้รวม 260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยเป็นการเติบโตตามอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และปริมาณรถยนต์ที่สะสมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและกลับสู่การเติบโตอีกครั้ง ในส่วนของผลประกอบการงวด 9 เดือน ของปี 65 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 688 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19 % จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 80.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 92 ล้านบาท
 
ขณะที่ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) อนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (PACO-W1) ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมทุกราย ในอัตรา 5 หุ้นเดิมต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ และมีอัตราการใช้สิทธิแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญที่ราคา 3 บาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินรองรับการขยายตัวของธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทกำหนดวันปิดสมุดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะได้รับสิทธิในวันที่ 23 ธ.ค.65
 
ทั้งนี้ บริษัทมุ่งเน้นการขยายทั้งธุรกิจเดิมคือ REM ตลาดอะไหล่ทดแทน (Aftermarket Parts) ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ที่ดีเนื่องจากสามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้เอง และมีการแข่งขันด้านราคาที่น้อยกว่า และ ธุรกิจใหม่คือ OEM ผลิตภัณฑ์แอร์รถยนต์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและมั่นคงให้บริษัทฯ ซึ่งบริษัทประสบความสำเร็จในการลงนามสัญญากับลูกค้าใหญ่รายแรกคือ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้า EV และ Plug-in Hybrid (PHEV) ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง PACO ได้รับออเดอร์มูลค่าถึง 1,200 ล้านบาท ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงรองรับกว่า 5 ปี สำหรับธุรกิจ OEM และ รองรับรายได้ 10 ปีสำหรับธุรกิจรับจ้างผลิตอะไหล่ (OES)
 
นอกจากนี้ บริษัทได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตหลายแห่ง เพื่อนำเสนองานรับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์และชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ มองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ OEM ที่ชัดเจน มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยบริษัทมีไลน์การผลิต อุปกรณ์เครื่องจักรมาตรฐานสากล พร้อมผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม รวมทั้งมีคู่แข่งน้อยรายในธุรกิจ จึงเชื่อมั่นว่ามีโอกาสรับงานรับจ้างผลิต OEM ได้อีกจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าไปจนถึงกลางปี 66
 
สำหรับภาพรวมรายได้ในปี 65 คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 900 ล้านบาท หรือเติบโต 30% โดยบริษัทเตรียมขยายตลาดส่งออก ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดี เนื่องจากธุรกิจ REM หรืออะไหล่ทดแทน จะได้ประโยชน์จากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อรถใหม่ รวมทั้งปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ได้คลี่คลายลงอย่างมาก ทำให้บริษัทสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นได้ โดยบริษัทมุ่งเน้นไปที่ตลาดตะวันออกกลาง, สหรัฐฯ และอาเซียน
 
ขณะที่ในช่วงไตรมาส 3/65 บริษัทได้ปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อรักษาอัตรากำไรในไตรมาสที่ผ่านมา และราคาอลูมิเนียมทั่วโลกได้ปรับตัวลดลงมาตามลำดับ ทำให้กำไรสุทธิอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะขยายทั้งตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ คาดว่าธุรกิจจะขยายตัวได้เติบโตจากครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยจากการที่บริษัทปรับราคาขายสินค้าขึ้นมาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งอลูมิเนียม เหล็ก น้ำมัน และพลาสติก ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมา
 
ส่วนตลาดในประเทศ บริษัทจะขยายเครือข่ายร้านอะไหล่แอร์รถยนต์ครบวงจร ภายใต้แบรนด์ PACO Auto Hub (พาโก้ ออโต้ ฮับ) เพื่อสร้างแบรนด์ PACO ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ในประเทศ เพื่อเพิ่มยอดขายในประเทศและเสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้า และสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ แบรนด์ของคนไทย โดยตั้งเป้าหมายที่ จะมีร้าน PACO Auto Hub จำนวน 300 สาขาภายในปีนี้ จากปัจจุบันได้เปิดไปแล้วกว่า 170 สาขา ทั่วประเทศ โดยภายในร้านจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ คอยล์ร้อนและคอยล์เย็นแบรนด์ PACO เป็นหลัก และมีสินค้าอื่นๆ อาทิเช่น ท่อน้ำยาแอร์ น้ำยาแอร์ เพื่อเป็นการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรในที่เดียว (One-Stop Solution) บริษัทวางเป้าหมายการจำหน่ายสินค้าผ่าน PACO Auto Hub ในแง่ของการเข้ามาช่วยสนับสนุนรายได้จากตลาดในประเทศที่มีสัดส่วน 55% ของรายได้รวมในปี 65 ที่จะผลักดันให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% โดยจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่องให้ครบ 500 สาขาในอนาคต
 
ขณะที่แนวโน้มของตลาดรถยนต์ EV กำลังอยู่ในกระแสความนิยมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ประกอบกับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น 1 ในศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV Hub) ของเอเชีย ทำให้ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่จากทั่วโลกหลายรายพุ่งเป้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ PACO จะเข้าไปมีส่วนร่วมเต็มรูปแบบสำหรับอุตสาหกรรมรถ EV เนื่องจาก PACO เป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ (OEM Manufacturer) ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า คือ Battery cooler และ ชิ้นส่วนแอร์รถยนต์สำหรับรถไฟฟ้า (EV) แบบ BEV (Battery EV) และ PHEV (Plug-in Hybrid) ในรูปแบบอะไหล่ทดแทน (REM) เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ