Phones





SCB EIC ชี้ส่งออกไทยมีแรงหนุนจากฐานต่ำ จับตาการฟื้นตัวศก.จีน

2023-07-28 17:17:16 152



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน มิ.ย. 2566 อยู่ที่ 24,826.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -6.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจาก -4.6% ในเดือนก่อน มูลค่าส่งออกหักทองคำและอาวุธ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริงหดตัวเพียง -5.0% และหากพิจารณามูลค่าการส่งออกเทียบเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาลหดตัวเพียง -0.7% จากเดือนก่อน โดยรวมมูลค่าส่งออก 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 141,170.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -5.4%
 
โดยภาพรวมการส่งออกรายสินค้าในเดือน มิ.ย. หดตัวทุกกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรหดตัว -7.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหลังจากหดตัว -27% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกยางพาราหดตัวต่อเนื่อง 11 เดือนที่ -43.0% ขณะที่ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 14.2% หลังจากหดตัวแรง -54.8% ในเดือนก่อนตามผลผลิตจากภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น ส่งออกไก่สด แช่เย็น แช่แข็งขยายตัว 10.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ปัจจัยหนุนจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในบราซิลส่งผลให้มีความต้องการไก่ทดแทนจากไทยมากขึ้น, (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือนอยู่ที่ -10.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มจาก -0.6% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์หดตัวมากถึง -80.8% เทียบกับ -63% ในเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกน้ำตาลทรายขยายตัว 31.4% ชะลอลงบ้างจาก 44.2% ในเดือนก่อน
 
(3) สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว -4.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเดือนก่อนขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หดตัว -25.3% ต่อเนื่อง 9 เดือน การส่งออกอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบหดตัว -68.8% แต่หากหักผลของทอง อาวุธ และอากาศยาน พบว่าสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมหดตัวเพียง -1.4% และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -25.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับ -39.9% ในเดือนก่อน จากการส่งออกน้ำมันดิบที่หดตัว -29.0%
 
ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ยังผันผวนสูง โดย (1) ตลาดจีนพลิกกลับมาขยายตัว 4.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังหดตัว -24% ในเดือนก่อน จากการส่งออกผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ที่ขยายตัว 17.2% หลังหดตัวในเดือนก่อน รวมถึงตลาดฮ่องกงขยายตัวดี 17.6% ตามการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวถึง 133.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน, (2) ตลาดญี่ปุ่นขยายตัว 2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังหดตัว -1.8% ในเดือนก่อน, (3) ตลาดสหรัฐฯ หดตัว -5.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังขยายตัว 4.2% ในเดือนก่อน, (4) ตลาดยุโรป (EU28) หดตัว -6.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังขยายตัว 9% ในเดือนก่อน และ (5) ตลาด ASEAN หดตัวแรงทั้งตลาด ASEAN5 -18.0% และ CLMV -23.0%
 
สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 24,768.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -10.3% หดตัวแรงขึ้นจาก -3.2% ในเดือนก่อน หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง หดตัว -11.4% หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ -1.7% โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าเชื้อเพลิง ขณะที่มูลค่านำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 10.2% เนื่องด้วยมูลค่านำเข้าหดตัวแรงกว่ามูลค่าส่งออก ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือน มิ.ย. จึงเกินดุลเล็กน้อยครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังขาดดุล -1,849.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ดุลการค้าในระบบศุลกากรในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ขาดดุล -6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะต่อไปแม้อาจได้รับแรงหนุนจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงท้ายปี แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วรวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง SCB EIC มองว่าการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปียังขาดหลายปัจจัยหนุน เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลง โดยเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลง 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาส 1 การนำเข้าสินค้าของจีนในเดือน มิ.ย. ยังหดตัวต่อเนื่อง -8.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าไทยของจีนหดตัวแรง -17.4% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานสูงที่มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 2565 สูงสุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูล แต่หากเทียบข้อมูลเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้าของจีนขยายตัว 4.9% จากเดือนก่อน
 
(2) ดัชนี Flash Manufacturing PMI ในเดือน ก.ค. ของประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวแรงต่อเนื่อง นำโดย Eurozone Manufacturing PMI ที่ลดลงมาอยู่ที่ 42.7 (43.4 ในเดือน มิ.ย.) UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 45.0 (46.5 ในเดือน มิ.ย.) Japan Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 49.4 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ US Manufacturing PMI ยังอยู่ในภาวะหดตัวที่ระดับ 49.0 แม้ปรับดีขึ้นจาก 46.3 ในเดือนก่อน
 
(3) ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน ก.ค. หดตัว -15.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากขยายตัว 5.2% ในเดือนก่อนจากปัจจัยฐานต่ำ และหากเทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล หดตัว -2.9% จากเดือนก่อน นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดจีนและสหรัฐฯ หดตัวมากขึ้น -21.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ -7.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ในระยะต่อไปยังต้องจับตา, (4) ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (El Nino) ที่อาจกระทบผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรตั้งแต่ปลายปีนี้ แต่ความเสียหายส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567
 
อย่างไรก็ตาม มุมมองการส่งออกของไทยในระยะต่อไปยังพอมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง จาก (1) ปัจจัยฐานต่ำโดยเฉพาะในช่วงปลายปี มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนเฉลี่ยที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เทียบค่าเฉลี่ยปี 2022 ที่สูงเกือบ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ที่ 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, (2) แรงกดดันอุปทานคอขวดคลี่คลายสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ค่าระวางเรือลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ส่งผลให้แรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสูงมีแนวโน้มทยอยหมดไป และ (3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น จะมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันของ OPEC+ มีแนวโน้มทำให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้ง นโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดียคาดว่าจะส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของโลกปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า