Phones





คต.บุกตลาดข้าวต่างประเทศ เร่งสร้างความเชื่อมั่น หวังรักษาตลาดข้าวไทย

2023-08-31 19:39:49 271



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – คต. เร่งเดินหน้าส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศ จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่น และรักษาตลาดข้าวไทย คาดคู่ค้าสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องดันยอดส่งออก
 
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศ ได้เร่งผลักดันการดำเนินการตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยการจัดคณะผู้แทนไทยประกอบด้วย ภาครัฐและเอกชนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวระหว่างกัน รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดข้าวไทยในตลาดเป้าหมาย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ประสบผลสำเร็จเกินคาด
 
โดยการเดินทางในภูมิภาคอาเซียนเริ่มจาก ฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 19 – 21 ก.ค. 2566 คณะผู้แทนไทยได้พบหารือกับสำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry: BPI) กระทรวงเกษตร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบและขั้นตอนการออกใบอนุญาตนำเข้าและใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับการนำเข้า ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการส่งออกข้าวจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังได้พบหารือกับหน่วยงาน Philippine International Trading Corporation (PITC) และหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารจัดการสต็อกข้าวของฟิลิปปินส์ โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายการจัดหาและนำเข้าข้าว รวมถึงนโยบายความมั่นคงทางอาหารของฟิลิปปินส์ โดยฝ่ายไทยได้ให้ความเชื่อมั่นว่าไทยมีแผนในการบริหารจัดการข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของฟิลิปปินส์
 
นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้พบปะหารือกับผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าข้าว รวมทั้งจัดเตรียมตัวอย่างข้าวขาวพื้นนุ่มซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของชาวฟิลิปปินส์ ให้แก่ผู้นำเข้าข้าวเพื่อทดลองตลาด ทั้งนี้ ผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์สนใจและยินดีนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
 
ขณะที่เมื่อวันที่ 21 – 22 ส.ค. 2566 โดยคณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบหารือกับหน่วยงาน Padiberas Nasional Berhad (BERNAS) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการกำกับดูแลนำเข้าข้าวของมาเลเซีย และผู้นำเข้าข้าว ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก (Wholesalers/Retailers) โดยจากการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวระหว่างกัน ทำให้ได้ทราบว่าในปีนี้มาเลเซียจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจนำเข้าข้าวคือราคาที่สูงและมีความผันผวนมาก นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคชาวมาเลเซียยังหันมานิยมข้าวพื้นนุ่มที่เป็นข้าวฤดูกาลใหม่มากขึ้น
 
ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้นำเสนอตัวอย่างข้าวพื้นนุ่มของไทยให้แก่ผู้นำเข้าข้าวมาเลเซีย โดยคาดว่าจะสามารถมีผลผลิตออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ภายใน 2 – 3 ปี ซึ่งมาเลเซียแสดงความสนใจที่จะพิจารณานำเข้าข้าวจากไทย เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทยและผู้ส่งออกของไทยมีศักยภาพในการจัดส่งข้าวได้ตามความต้องการของมาเลเซียมาโดยตลอด ทั้งในด้านคุณภาพ ปริมาณ และระยะเวลาส่งมอบ
 
ปิดท้ายด้วย อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 คณะผู้แทนไทยได้พบหารือกับหน่วยงาน National Food Agency ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อบริหารจัดการอาหารให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้าวของอินโดนีเซียเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ได้แก่ หน่วยงาน Ministry of State-Owned Enterprises ซึ่งดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดของอินโดนีเซีย หน่วยงาน The State Logistics Agency (BULOG) รัฐวิสาหกิจซึ่งดูแลการนำเข้าข้าวของรัฐบาลอินโดนีเซีย และ ID Food Holding Company บริษัทผู้ส่งออก-นำเข้าข้าว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายไทยได้มีโอกาสพบหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้าวทั้งหมดของอินโดนีเซีย
 
โดยผลการหารือทราบว่าในปีนี้อินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวอีกกว่า 400,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยอินโดนีเซียยินดีนำเข้าข้าวจากไทยเนื่องจากข้าวไทยมีคุณภาพดี อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับราคาที่เหมาะสมด้วย นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้เข้าเยี่ยมชม Food Station ซึ่งเป็นศูนย์รวมและกระจายข้าวที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ทำให้ได้ทราบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าข้าวของอินโดนีเซียมากขึ้น ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนส่งออกข้าวเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้อินโดนีเซียต่อไป
 
ล่าสุดคณะผู้แทนไทยได้เดินทางเยือนญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27 – 29 ส.ค. 2566 โดยเข้าพบหารือกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการการผลิต และการค้าข้าว รวมทั้งการกำกับดูแลการประมูลข้าว กำหนดปริมาณและชนิดข้าวที่จะนำเข้าของญี่ปุ่น โดยจากการหารือทำให้ได้ทราบว่า ปัจจุบันความต้องการบริโภคข้าวของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงประมาณ 1 แสนตันต่อปี เนื่องจากจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวมาเยือนญี่ปุ่นลดลง
 
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าข้าวจากไทยปีละประมาณ 0.26 – 0.29 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวขาวจากไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมข้าวของญี่ปุ่น เช่น ขนมอบกรอบ แป้งข้าว และเหล้าอะวาโมริ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับประธานบริษัท Overseas Merchandise Inspection Company (OMIC) โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลของการตรวจสอบคุณภาพข้าวไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา และคณะผู้แทนไทยยังได้พบหารือกับผู้นำเข้าข้าวของญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำเข้าได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยไปญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง เอลนีโญ และการออกประกาศระงับการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติของอินเดีย โดยฝ่ายไทยยืนยันว่า ผลผลิตข้าวไทยในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการส่งออกและพร้อมที่จะส่งมอบข้าวคุณภาพและมาตรฐานตรงตามสัญญาให้แก่ญี่ปุ่นต่อไป