Phones





SCB EIC มอง ‘BNPL’ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ตัวแปรใหม่ของการช้อปปิ้ง

2023-09-11 20:08:21 457



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC ระบุว่า Buy Now, Pay Later (BNPL) หรือ การซื้อสินค้าแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” เป็นการซื้อสินค้าที่มีการแบ่งชำระเงินออกเป็นงวด ๆ เท่า ๆ กัน โดยงวดแรกเกิดขึ้น ณ วันทำการซื้อขาย และการชำระครั้งต่อไปจะเรียกเก็บจากบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของผู้ใช้บริการ จนกว่าจะชำระเต็มจำนวน ซึ่งการซื้อก่อนจ่ายทีหลังจะมีค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ ไม่มีดอกเบี้ยหากชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด BNPL ได้รับความนิยมในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่ม Millennials และ Gen Z เนื่องจากสะดวก และเข้าถึงง่าย
 
ทั้งนี้ BNPL เป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่มีงบประมาณไม่เพียงพอซึ่งจะสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการชำระเงิน และอาจทำให้มูลค่าการซื้อสินค้าในแต่ละครั้งของลูกค้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากลูกค้าสามารถแบ่งชำระเป็นงวดได้ นอกจากนี้ BNPL มีความแตกต่างจากบัตรเครดิต ที่ผู้ใช้สามารถสมัครได้โดยไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติเครดิตบูโร และได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การมี BNPL เป็นทางเลือกในการชำระค่าสินค้าและบริการ ยังอาจมีส่วนช่วยให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ
 
โดยผู้ค้าปลีกไทยสามารถนำ BNPL มาใช้เป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มยอดขายได้ 2 รูปแบบ คือ 1.ให้บริการผ่าน Platform ของตนเอง หรือ 2.ผ่าน Third party โดยผู้ประกอบการอาจจะพัฒนาระบบ Online BNPL ของร้านค้าโดยเฉพาะ เพื่อนำ BNPL มาใช้เฉพาะในห้างร้านของตน ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการจาก Third party company ที่ให้บริการ BNPL โดยเฉพาะ และต้องพิจารณาว่าวิธีใดเหมาะสมกับธุรกิจตน เช่น ประเมินความคุ้มค่าที่จะได้จากการเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้ผู้ซื้อแบบ Buy Now, Pay Later โดยอาจพิจารณาจากต้นทุนค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียให้กับ Partner ที่ให้สินเชื่อ BNPL และยอดขาย กำไร ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มช่องทาง BNPL หรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหากร้านค้าเลือกจะเป็นผู้ให้บริการ BNPL เสียเอง แต่การนำ BNPL มาใช้ในธุรกิจค้าปลีกก็มีข้อควรระวัง อาทิ ประเด็นในเรื่องการบริหารสภาพคล่องของร้านค้าจากการที่ต้องรอการชำระเงินจากผู้ให้บริการ BNPL อีกทั้ง ยังมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการ BNPL รวมถึงภาระในการบริหารจัดการระบบที่อาจมีความซับซ้อนมากกว่าการชำระเงินตามปกติ
 
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของ BNPL ยังมีความเสี่ยงและความท้าทาย ซึ่งอาจลดทอนแรงสนับสนุนต่อธุรกิจค้าปลีก แม้ภาพรวมตลาด BNPL ที่ยังมีแนวโน้มเติบโต จะช่วยหนุนยอดขายของกลุ่มค้าปลีก แต่ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายของผู้ให้บริการ BNPL ที่ต้องเผชิญ เช่น ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และคู่แข่งทางธุรกิจ รวมไปถึงมาตรการการจัดการหนี้ครัวเรือนจาก ธปท. ซึ่งอาจส่งผลให้แรงสนับสนุนของ BNPL ต่อธุรกิจค้าปลีกชะลอลงบ้าง