Phones





NER กางแผนปี 67 ปริมาณการขายโต 5 แสนตัน

2023-11-29 12:45:03 593



นิวส์ คอนเน็คท์ - NER ตั้งเป้าปี 67 ปริมาณการขายโต 5 แสนล้านตัน รายได้โตกว่าปี 66 เตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติเงิน 1,200 ล้านบาท เดินหน้าก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 302,400 ตัน รองรับลูกค้ารายใหม่ ส่วนไตรมาส 4/66 เติบโตดี มุ่งเน้นการขยายตลาดต่อเนื่อง มั่นใจทั้งปี 66 มียอดขาย 5 แสนตันตามเป้าหมาย พร้อมป้องกันสถานการณ์ความเสี่ยงของราคายางที่ผันผวนด้วยวิธี matching order เพื่อรักษาอัตรากำไร
 
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 นายศักดิ์ชัย จงสถาพงษ์พันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารบัญชี-การเงิน บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 67 บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัน เนื่องจากปัจจุบันเดินเครื่องกำลังการผลิตอยู่ในระดับที่สูง และรายได้จากการขายคาดว่าจะเติบโตมากกว่าปี 66 จากราคายางที่สูงขึ้น 

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตสินค้าประเภทยางแท่งและยางแท่งผสม โดยจะขอนำเสนอบอร์ดเพื่อพิจารณาอนุมัติเงิน 1,200 ล้านบาท สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก จะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 67 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 68 ซึ่งภายหลังจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน โดยยังมุ่งเน้นการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายรายทั้งในประเทศจีน สิงคโปร์ อินเดีย และไทย และคาดว่าจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มอีกหลายราย
 
ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/66 จะเติบโตได้ดี เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66 เนื่องจากมีการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าตามคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยบวกด้านราคาขายเป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งมีออเดอร์บางส่วนที่เริ่มส่งมอบด้วยราคาขายใหม่

สำหรับภาพรวมปี 66 บริษัทยังคงตั้งเป้าปริมาณขายสินค้าที่ 500,000 ตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 515,600 ตัน โดยการเติบโตมาจากการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีการขายให้กับลูกค้าไปถึงไตรมาสที่ 1/67 แล้ว จากอานิสงส์ของคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่ยังมีความต้องการสูงและราคายางที่ปรับตัวดีขึ้น
 
ส่วนสถานการณ์ราคายางพารานั้น เริ่มมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด (Demand) ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ (รวมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนสนับสนุนของภาครัฐ) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง ส่วนสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทใช้วิธี “Matching Order” เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผัน ซึ่งทำให้บริษัทสามารรักษาอัตราการทำกำไร