Phones





BWG - GULF ปิดดีลร่วมทุนโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม-SRF

2024-04-25 15:16:39 309



 
นิวส์ คอนเน็คท์ – BWG ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ GWTE บริษัทย่อยของ GULF เพื่อร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโรงงานผลิตเชื้อเพลิง จากขยะอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ หนุนพอร์ตกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมตามสัญญาแตะ 112.50 เมกะวัตต์
 
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 นางสาวณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ และสื่อสารองค์กร บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม ร่วมกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 บริษัทได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นในบจ. เก็ท กรีน พาวเวอร์ หรือ GGP และบจ. เซอร์คูล่าร์ แคมป์ หรือ CC กับบจ. กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ หรือ GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GULF เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้า 12 โครงการ ภายใต้ GGP และโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมจำนวน 3 โครงการ ภายใต้ CC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้ หลังจากการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวแล้วเสร็จ จะส่งผลให้กลุ่ม BWG จะมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ภายใต้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 112.50 เมกะวัตต์ ซึ่งสอดคล้อง กับนโยบายของทางภาครัฐในการแก้ไขปัญหาขยะอุตสาหกรรมให้กับประเทศ
 
“BWG ถือเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิง SRF รายใหญ่ที่สุดในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีการขายขยะเชื้อเพลิง SRF ให้ ETC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในเครือ ซึ่งจะทำให้ BWG มีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เนื่องจาก ETC มีสัญญา PPA ยาวนานถึง 20 ปี เป็นการเติบโตเสริมศักยภาพการเติบโตของธุรกิจให้กับ BWG ด้วย” นางสาวณัฐพรรณ กล่าว
 
อย่างไรก็ตามใน ปัจจุบัน BWG มีโรงผลิตขยะเชื้อเพลิง SRF อยู่แล้วจำนวน 3 โรง ซึ่งมีกำลังผลิตรวมประมาณ 225,000 ตันต่อปี ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในเครืออยู่ที่ประมาณ 160,000 ตันต่อปี เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญารวม 16.5 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมถือเป็นการช่วยลดปริมาณขยะของประเทศ และช่วยลดพื้นที่การฝังกลบขยะสู่การสร้างแหล่งเชื้อเพลิงทดแทนที่ยั่งยืนและมั่นคง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้าน Zero Waste Landfill ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy (BCG)