Phones





กนง.มติ4:2คงคงดอกเบี้ย0.75% หั่นจีดีพีติดลบ5.3%

2020-03-25 17:17:53 351




นิวส์ คอนเน็คท์ – กนง.เสียงแตกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี แต่ปรับลดตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 63 ติดลบ 5.3% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.8% ด้านตัวเลขการส่งออกติดลบอ่วม 8.8%


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% ต่อปีตามเดิม แม้มองว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มชะลอตัวแรงจากปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ แต่ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ซึ่งตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ  


ทั้งนี้ กนง.มองว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง และจะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าภายในไตรมาส 2/63 สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ในสภาวะการดังกล่าว กนง.พร้อมสนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอี ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา  


อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรงเนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว โดย กนง.เห็นว่า มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19


นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 64 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 63 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว ขณะที่ กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด


ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่ เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่อาจด้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรง ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลครัวเรือนและธุรกิจ SMEs


ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. มีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(จีดีพี))ในปี63 เป็นติดลบ 5.3% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.8% แต่คาดว่าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้ 3% ในปี64 ส่วนตัวเลขการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 8.8% และกลับมาขยายตัวได้ 0.2% ในปี64 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 1% และกลับมาอยู่ที่ 0.3% ในปีหน้า ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้คาดว่าจะติดลบอยู่ที่ 0.1% และในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 0.1%


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews