Phones





กกร.ชงรัฐอัดมาตรการช่วยแรงงานสู้โควิด

2020-04-08 15:46:40 335




นิวส์ คอนเน็คท์ – กกร.ประเมินไวรัสโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยเสียหายคิดเป็นมูลค่าล้านล้านบาท เตรียมปรับลดเป้าหมายจีดีพีของไทยปี 63 หลังคาดเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย พร้อมคาดการณ์ตัวเลขส่งออกของไทยปี 63 ติดลบ 5-10% หวังรัฐบาลอัดมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือแรงงานและลูกจ้างในระบบประกันสังคม


เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของไทยคิดเป็นมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และกระทบต่อการจ้างงานหลักหลายล้านคน ซึ่งหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถยุติลงได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก แต่มองว่าการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆให้กลับสู่ภาวะปกติยังต้องใช้เวลา  


อย่างไรก็ตาม การรายงานตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 63 ประจำเดือนเมษายนยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต้องรอประเมินผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้มีการประกาศใช้ แต่การคาดการณ์ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาประเมินตัวเลขจีดีพีเติบโต 1.5-2% ด้านตัวเลขส่งออกปีนี้คาดว่าติดลบ 5-10% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 2-0% ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้คาดติดลบ 1.5% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 0.8-1.5%


ขณะที่ กกร.เห็นด้วยกับภาครัฐที่อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 ทั้ง พรก.กู้เงิน การเลื่อนกำหนดชำระหนี้ให้กับ SMEs และการจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วย SMEs โดย กกร.ยังได้เสนอมาตรการช่วยเหลือในหลายกลุ่ม ทั้งมาตรการด้านผู้ประกอบการโดยขอให้ภาครัฐพิจารณาออกคำสั่งปิดกิจการของรัฐ ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด


นอกจากนี้ ยังขอให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าเป็น 5% ทั่วประเทศ จากเดิมที่รัฐบาลประกาศลดค่าไฟฟ้าแล้ว 3% เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนค่าน้ำมันลดลงอย่างมาก ซึ่งค่า FT น่าจะสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงเสนอเพิ่มสภาพคล่องโดยการอัดฉีดวงเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80% รวมถึงให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งต้องการให้รัฐจัดสรรงบประมาณการจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้ในโควิด-19  


สำหรับมาตรการแรงงานได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้แก่แรงงาน และลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการชดเชยรายได้ โดยพนักงานที่เข้าระบบ Leave without pay จะไม่สามารถได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการของสถานประกอบการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ควรมีมาตรการชดเชยช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง ตามที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม  


นอกจากนี้ เสนอให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และ ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทโดยยังได้รับเงินเดือน 75% และไม่ตกงาน


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews