Phones





ธปท.หวั่นศก.ไตรมาส2อ่วม รับพิษโควิด-19

2020-04-30 16:52:49 412




นิวส์ คอนเน็คท์ - ธปท.เปิดตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม และงวดไตรมาส 1/63 หดตัวรุนแรง หลังการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 มีโอกาสหดตัวรุนแรงต่อเนื่อง แต่ต้องรอติดตามเศรษฐกิจโลก และผลจากการดำเนินมาตรการด้านการคลังและการเงิน  


เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.63 มีการชะลอตัวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.63 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไตรมาส 1/63 ที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรงหลังหลายประเทศรวมถึงไทยประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าหดตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมัน


ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวถือว่ามีการหดตัวรุนแรง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมี.ค.63 อยู่ที่ 819,000 คน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 2.06 ล้านคน หรือติดลบ 76.4% ขณะที่ไตรมาส 1/63 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 6.6 ล้านคน ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวที่ลดลงนั้น เป็นการหดตัวสูงในทุกสัญชาติ จากผลของการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงมากส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร  


สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมี.ค. ติดลบ 2.2% จากเดือนก.พ.ที่ขยายตัว 3.6% ซึ่งหากไม่รวมทองคำพบว่าตัวเลขจะติดลบ 6.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 1/63 ขยายตัว 1.5% แต่หากไม่รวมทองคำจะติดลบ 3.1% โดยเป็นผลจากทั้งปริมาณสินค้าที่ลดลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และด้านราคาสินค้าส่งออกที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในบางหมวดสินค้าขยายตัวได้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า  


ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมี.ค.63 พบว่ายังเกินดุล 700 ล้านดอลลาร์ และในไตรมาส 1/63 มีการเกินดุล 9.5 พันล้านดอลลาร์ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.54% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่มิ.ย. 60 จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่หดตัวสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดอยู่ที่ 0.54%


สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 มองว่าจะหดตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1/63 โดยยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจโลก และผลของมาตรการด้านการเงินการคลัง ในส่วนของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาทของธปท. เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น คาดว่าหากวงเงินสินเชื่อมีการเบิกใช้ทั้งหมดจะส่งผลต่อจีดีพีประมาณ 3% ส่วนพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของรัฐ จะต้องติดตามว่าแบ่งใช้จ่ายอย่างไรในช่วง 2 ปีนับจากนี้ และที่สำคัญการใช้จ่ายต้องช่วยเหลือคนที่ต้องการจริงๆ


 


 


>>>สามารถอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ทาง http://www.newsconnext.com
หรือติดตามผ่านช่อง Line@ ได้ที่ News Connext
ช่องทาง Fanpage Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/connextnews