Phones





BIZ สู่ความสำเร็จ "ศูนย์รักษาผู้ป่วยโรงมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน"

2021-06-04 11:52:30 382



นิวส์ คอนเน็คท์ - BIZ โชว์ศักยภาพในการก่อสร้างศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน มั่นใจผลงานปี 64 สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ลุยส่งมอบงานตามนัด หลังตุนงานในมือกว่า 2 พันล้านบาท  

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 นายวรวิทย์ สีลภูสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและทรัพยากรมนุษย์ บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทฯ ที่มีความเชียวชาญทางด้านติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษาชั้นนำของประเทศไทย เปิดเผยถึงความพร้อมของบริษัท ฯ ที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในทุก ๆ ระยะ เพื่อเป็นทางเลือกให้ทำการรักษาได้ตรงจุดและหายขาด และทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข 

“บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นอันดับแรก เพราะผู้ป่วยคือผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจัดจำหน่ายโดยตรง มีความต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับที่สูงและทันสมัย เพื่อให้เหมาะสมกับการรักษาอาการโรคมะเร็งในปัจจุบัน ซึ่งการใช้อนุภาคโปรตอน เป็นการรักษาด้วยรังสีที่สมบูรณ์แบบ เพราะสามารถให้ปริมาณรังสีที่สม่ำเสมอครอบคลุมเป้าการรักษา และยังมีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็ง แพทย์จึงสามารถเพิ่มปริมาณรังสีสูงสุดที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้หมด ในขณะเดียวกันก็ลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยมะเร็งในเด็ก และในผู้สูงอายุ ซึ่งมีความทนทานต่อผลข้างเคียงได้น้อยจากการรักษา” 

สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโรงมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำ Customer Acceptance Test ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 95% และขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นขั้นตอนการเก็บข้อมูลเฉพาะของลำรังสีอนุภาคโปรตอน โดยข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการประมวลแผนการรักษา ในระบบเครื่องวางแผนการรักษา (Treatment Planning System) โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมในการเริ่มรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนต่อไป 

นายวรวิทย์ สีลภูสิทธิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ มีความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมก่อตั้ง “โครงการจัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโรงมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน” ซึ่งเป็นเครื่องแรกในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เครื่องเร่งอนุภาคโปรตอนดังกล่าว เป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้างอาคาร การติดตั้งระบบสนับสนุน (supported Facility) ตลอดไปถึงการติดตั้งตัวเครื่อง และบริษัทฯ ได้สร้างทีมงานวิศวกรที่มีคุณภาพ และมีความเชี่ยวชาญให้เข้าใจในเทคโนโลยีชั้นสูง จากประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถติดตั้งในโครงการต่อ ๆ ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพเท่ากับโครงการจัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโรงมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ขอให้นักลงทุนทุกคนมั่นใจในศักยภาพของทีมบริหาร และบุคลากรขององค์กรว่า จะสามารถนำพาองค์กรเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ไม่ได้มุ่งเน้นแต่ในด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะบริษัทฯ ยังมีทรัพยากรที่มีคุณภาพในการนำเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อส่งต่อการรักษาที่ทันสมัยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อลดอาการเจ็บป่วย และ “ผู้ป่วย” ยังถือว่าเป็น Stakeholder ที่สำคัญอย่างที่สุด 

ทั้งนี้ ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่รายได้และกำไรของบริษัทฯยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการส่งมอบเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่เป็นคู่สัญญา ได้ตามแผนงานที่วางไว้ โดยมีรายได้รวม 551.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288.30 ล้านบาท หรือ 109.62% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 81.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.48 ล้านบาท หรือ 435.07% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 15.28 ล้านบาท 

โดยปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 2,188 ล้านบาท ส่วนใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ และอยู่ระหว่างเข้าร่วมประมูลในหลายโครงการ ทำให้เห็นถึงทิศทางธุรกิจในปีนี้ที่คาดว่ารายได้และกำไรจะมีโอกาสสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น.