Phones





ดีแทค x Salmon Books ดันบาร์หยุดไซเบอร์บูลลี่

2022-06-19 16:02:19 517



 
นิวส์ คอนเน็คท์ - ดีแทค x Salmon Books ผนึกกำลัง 9 นักเขียนกระแสหลักของ Gen Z ส่งหนังสือรวมเรื่องสั้น #HARSHTAG ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ปล่อย 3 เรื่องสั้น #HARSHATG ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ผ่านแพลตฟอร์ม readAwrite เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากลทุกศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิ.ย. ของทุกปี
 
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 – นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคให้ความสำคัญกับวันต่อต้านไซเบอร์บูลลี่สากลต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 ในปีนี้ ด้วยความตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตและบริการดิจิทัล ต่อความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 28% ในไทยเป็นเด็กและเยาวชน โครงการ dtac Safe Internet ยังคงเดินหน้าให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์ และเป็นภาคีสำคัญในการร่วมหาทางออกและลดความรุนแรงจากภัยออนไลน์ ซึ่งไซเบอร์บูลลี่เป็นประเด็นปัญหาในลำดับต้นๆ ที่เยาวชนไทยตระหนักถึงอันตรายและอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
 
สำหรับในปีนี้ ดีแทคได้ร่วมกับสำนักพิมพ์แซลมอน หยิบข้อเสนอของเยาวชนใน ‘สัญญาใจวัย Gen Z’ มาถ่ายทอดเป็นเรื่องสั้นที่เปิดเผยถึงค่านิยม ทัศนคติ และประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ และสอดแทรกด้วยแนวทางปฏิบัติที่ใช้ได้จริงทั้ง 23 ข้อ เพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการจัดจำหน่ายหนังสือ ดีแทคจะส่งต่อให้สำนักพิมพ์แซลมอน (Salmon Books) ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย
 
นายปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน กล่าวว่า แม้จะมีผู้คนและองค์กรจำนวนมากร่วมกันส่งเสียงให้เรา ลด ละ เลิกการบูลลี่ทั้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์ แต่เราเชื่อว่า ถ้าหยิบมือถือหรือหยิบคอมพิวเตอร์เข้าไปในโลกโซเชียลฯ ตอนนี้ ก็อาจพบเห็นการกระทำแบบนั้นได้ไม่ยาก ในฐานะของคนทำสำนักพิมพ์ เราพยายามสอดแทรกเรื่องนี้เท่าที่มีโอกาส
 
โดยเมื่อดีแทคเล่าให้ฟังว่าพวกเขาไปเก็บข้อมูลการไซเบอร์บูลลี่จากคนรุ่นใหม่มาต่อยอดพัฒนาเป็น สัญญาใจวัย Gen Z ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนเห็นว่าเรากลั่นแกล้งทางออนไลน์โดยไม่รู้ตัวมากมายเท่าไรและเราควรทำตัวอย่างไรไม่ให้ไปกระทบกระเทือนใจบุคคลอื่น พวกเราก็มีความคิดอยากทำเรื่องนี้เป็นหนังสือขึ้นมาทันที แต่แทนที่จะนำเสนอสัญญาใจ 23 ข้อ แล้วจบไป เราก็นึกสนุกอยากชวนนักเขียนทั้งที่เคยร่วมงานและเพิ่งเคยร่วมงานกันมาตีความสัญญาใจในแบบของตัวเอง ต่อเติมเป็นเรื่องแต่งที่นักเขียนแต่ละคนได้แรงบันดาลใจจากสัญญาใจที่ตัวเองอยากเล่า
 
#HARSHTAG ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา เป็นหนังสือที่จะช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าใจโลกของคนรุ่นใหม่ ผ่านเรื่องสั้นที่อ่านสนุก สดใหม่ และแฝงไปด้วยประเด็นไซเบอร์บูลลี่ที่ชวนให้ฉุกคิดอย่างแยบยล ผ่านเรื่องราวเฉพาะตัวของนักเขียนขวัญใจ Gen Z ทั้งหมด 9 ท่าน ได้แก่ 1) afterday 2) โชติกา ปริณายก 3) จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ 4) JittiRain 5) serene seaborn x summer december 6) ตัวแม่* 7) สะอาด 8) ธนชาติ ศิริภัทราชัย 9) นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์
 
เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากล 2565 (#StopCyberbullyingDay) หนังสือรวมเรื่องสั้น #HARSHTAG ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา พร้อมเปิดเรื่องสั้น 3 ตอน ให้อ่านได้แล้ววันนี้ ที่แพลตฟอร์ม readAwrite (https://bit.ly/3QuouQz) โดยประกอบไปด้วย 1) รู้ไหมใครโกรธ – ธนชาติ ศิริภัทราชัย, 2) Love Me Love My Sick – afterday และ 3) หนักซ้าย – ตัวแม่
 
นอกจากนี้หนังสือรวมเรื่องสั้น #HARSHTAG ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา พร้อมจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจจับจองเป็นเจ้าของได้ในเดือนก.ค.65 ณ ร้านขายหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
 
สำหรับหนังสือรวมเรื่องสั้น #HARSHTAG ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจาก ‘แนวปฏิบัติเพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์’ หรือ ‘สัญญาใจวัย Gen Z’ ที่ถอดมาจากข้อเสนอแนะของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมระดมความเห็นผ่านแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ภายใต้โครงการ dtac Safe Internet
 
-ขณะที่ 1.44 ล้านครั้ง คือจำนวนข้อความที่คนรุ่นใหม่ หรือ generation Z เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นผ่านแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา บนโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์ม https://safeinternetlab.com/brave ที่ดีแทคเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไซเบอร์บูลลี่ต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง ในเดือนมิ.ย.64 ที่ผ่านมา
 
ภายหลังการระดมความคิดเห็น ดีแทค และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้คัดเลือก 205 ทางออก ที่มีเสียงสนับสนุนมากที่สุด วิเคราะห์ออกมาเป็น ‘สัญญาใจวัย Gen Z’ ที่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความ ปฏิบัติตามได้ทันที และ ‘คู่มือให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา (Stop Cyberbullying Playbook)’ เล่มแรกในประเทศไทย’ ซึ่งข้อเสนอแนะของคนรุ่นใหม่ สามารถสรุปออกเป็น 3 แนวทางใหญ่ในการแก้ไขปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ได้แก่ 1.การแก้ไขด้านทัศนคติ (Attitude) ปลูกฝังการให้เกียรติและเคารพความแตกต่าง, 2.สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม (Awareness) สร้างบรรทัดฐานสังคมใหม่และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ใช้ได้จริง และ 3.มีการกำหนดมาตรการลงโทษและเยียวยา พร้อมกฎหมายเอาผิดผู้กระทำและช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ