Phones





AOT แจงงบ 6 เดือน รายได้ 36,235.82 ล เพิ่มขึ้น 5.98%

2025-05-19 10:21:13 87



นิวส์ คอนเน็คท์ - AOT แจงผลประกอบการงวด 6 เดือนแรก รายได้รวม 36,235.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.98% พร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท่าอากาศยานหลักของประเทศทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต 

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 67 - มี.ค. 68) มีจำนวนเที่ยวบินรวม 414,377 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.90% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 237,511 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 176,866 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 68.42 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.76% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 42.34 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 26.08 ล้านคน

โดยการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินและผู้โดยสาร ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. 67 - มี.ค. 68) มีรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 18,188.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,751.25 ล้านบาท คิดเป็น 17.82% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวม 36,235.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.98% และมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 10,397.57 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนเ

สำหรับความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และการบริการเพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ โดย AOT ได้ดำเนินโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบิน (Incentive Scheme) และโครงการสนับสนุนการตลาด (Marketing Fund) เพื่อให้สายการบินประกอบกิจการได้อย่างยั่งยืน และผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากขึ้น

ขณะเดียวกัน AOT ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท่าอากาศยานหลักของประเทศทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนเป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2576 นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมศึกษาแนวทางการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเติบโตของการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินโดยรวม

พร้อมกันนี้ AOT ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับสากลมาใช้ทุกขั้นตอนของการให้บริการในสนามบิน เช่น ระบบให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการเที่ยวบินให้สอดคล้องกับแผนการเดินทางอากาศสากล ลดความล่าช้าในการเดินทาง โดยได้เริ่มเปิดให้บริการระบบเช็กอินอัตโนมัติ ระบบโหลดกระเป๋าอัตโนมัติ ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง (Biometric) ที่ช่วยให้ ผู้โดยสารสามารถเช็กอินและขึ้นเครื่องได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลารอคอย รวมทั้งนำระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automated Border Control: ABC) มาใช้สำหรับผู้ถือ e-passport และใช้ Thailand Digital Arrival Card (TDAC) แทน ตม.6 แบบกระดาษ เต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลา รอคิว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของท่าอากาศยานไทยสู่การเดินทางแบบ “Smart Airport – Smart Immigration”

นอกจากนี้ AOT ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ AOT และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ผ่านโครงการ AOT Property Showcase โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นโครงการให้บริการคลังสินค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building อาคารจอดรถ และศูนย์เชื่อมต่อการขนส่งระบบราง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง 

ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน AOT ได้รับการจัดอันดับเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) World และ Emerging Market ต่อเนื่อง 6 และ 10 ปี ตามลำดับ และติดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ A พร้อมมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2587 โดยเดินหน้าการใช้พลังงานสะอาด การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ การเปลี่ยนยานพาหนะในท่าอากาศยานเป็นระบบไฟฟ้า และในปี 2025 นี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังได้รับการจัดอันดับ ให้ติดอันดับที่ 39 ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกจาก Skytrax (ขยับขึ้น 19 อันดับ) 
พร้อมคว้าอันดับ 3 ของท่าอากาศยานที่พัฒนาดีที่สุดของโลก อีกทั้ง อาคาร SAT-1 ยังคว้ารางวัล Prix Versailles 2024 ในฐานะท่าอากาศยานที่สวยที่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานของ AOT ที่สมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  
 
ทั้งนี้ AOT เชื่อมั่นว่าด้วยนโยบายในการพัฒนาเชิงรุก ศักยภาพด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการยึดมั่นในหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน จะส่งผลให้ AOT ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการท่าอากาศยานชั้นนำระดับสากล เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป