Phones





GUNKULเดินกลยุทธ์สร้าง Resilient Growth รุก 3 ธุรกิจหลัก

2025-07-25 09:42:08 131



นิวส์ คอนเน็คท์ - GUNKUL ตอกย้ำความสำเร็จครึ่งปีแรก ตามวิสัยทัศน์ใหม่ “พาร์ตเนอร์ด้านพลังงานสีเขียว และโครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย” เปิดกลยุทธ์ครึ่งหลังของปี 68 เสริมแกร่งสร้าง Resilient Growth ให้ 3 ธุรกิจหลัก คาดเตรียมเซ็นสัญญา PPA เพิ่ม 180 เมกะวัตต์ และเข้าประมูลโครงการก่อสร้าง EPC ไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายโครงการ มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% รายได้รวมใน 3 ปี เติบโตกว่า 35,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 นางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอในเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยการมุ่งสู่วิสัยทัศน์ใหม่ ที่มุ่งเน้นในการสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อทางธุรกิจ และเตรียมความพร้อมรับมืออย่างมียุทธศาสตร์จากปัจจัยภายนอก ทั้งจากสถานการณ์โลก ความผันผวนของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการสร้าง Resilient Growth ให้บริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคง รวมไปถึงดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งมองว่าครึ่งแรกของปี 2568 ประสบความสำเร็จเป็นไปตามโรดแมพ ภายใต้การบริหารจัดการต้นทุนอย่างชาญฉลาด ส่งผลให้บริษัทสามารถที่จะปันผลเฉพาะกาลได้ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

สำหรับแผนการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 2568 ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์ สมการความก้าวหน้า ผลักดันธุรกิจ 3 ด้านอย่างบูรณาการ โดยมีแผนงานดังนี้

1. ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียว (Green Power) จากความสำเร็จในครึ่งแรกของปี ที่ขยายกำลัง การผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะลงนามสัญญาโครงการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 180 เมกะวัตต์ จากภาครัฐในเวลาอันใกล้นี้ รวมไปถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์มเพิ่มเติมอีก 319 เมกะวัตต์ ที่ยังรอความชัดเจนเพิ่มเติม ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ จะส่งผลให้ GUNKUL มีโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมดรวม 1,579 เมกะวัตต์ และยังได้เตรียมพร้อมสำหรับแผนงานประมูลโครงการฯ PPA ใหม่ๆ ที่จะช่วยผลักดันอัตราส่วนพลังงานสะอาดของประเทศ ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับพันธมิตรกับองค์กรชั้นนำ muRata ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อเตรียมดำเนินการด้าน Direct PPA ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานของประเทศ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าต่างประเทศจากเดิมที่มีอยู่ในญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม บริษัทฯ วางแผนเจรจาโครงการในฟิลิปปินส์เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอพลังงานสีเขียวในต่างประเทศเพิ่มเติม

2. ธุรกิจรับเหมาไฟฟ้า (EPC) ในช่วงครึ่งปีแรกได้มีลงนามสัญญากับ กฟผ. ในโครงการก่อสร้างสายส่ง ไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ มูลค่ากว่า 675 ล้านบาท เชื่อมต่อจากบางละมุง ถึงปลวกแดง ซึ่งในครึ่งปีหลัง ได้อยู่ในระหว่างการดำเนินเตรียมประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (EPC) หลาย โครงการ รวมมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลขนาด 230 กิโลโวลต์ ไปยังเกาะสมุย โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเล ในพื้นที่เกาะต่างๆ จำนวน 12 เกาะ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์ม เป็นต้น โดยปัจจุบันมีจำนวนงานที่รอรับรู้รายได้ (Blacklog) กว่า 3,680 ล้านบาท

3. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า (Manufacturing) มีแผนการสร้างการเติบโตของยอดขายในผลิตภัณฑ์เดิม และขยายฐานด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ กลุ่มอุปกรณ์โซลูชั่นอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ที่สามารถต่อยอดความสำเร็จจากช่วงครึ่งปีแรก โดย GUNKUL ได้รับการแต่งตั้งจาก SUNGROW ผู้นำรายใหญ่ระดับโลกในด้านกลุ่มธุรกิจด้านอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Tier 1 Distributor) ในประเทศไทย สำหรับอุปกรณ์โซลูชั่นอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างก้าวกระโดด

นอกจากแผนงานที่วางไว้อย่างเป็นรูปธรรมในครึ่งหลังของปี 2568 ยังมุ่งเน้นในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างการเติบโตและผลกำไรที่ดี ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและพาร์เนอร์ที่ให้ความไว้วางใจ GUNKUL เสมอ โดยใช้กลยุทธ์ Trim Operational Fat ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเหมาะสมเพื่อเปิดโอกาสในการต่อยอด New S-Curve อาทิ Green Data Center และบริการโครงสร้างพื้นฐานประเทศ Infrastructure Development หรือทำ Co-investment ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างคล่องตัวที่สุด รวมถึงเฟ้นหาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงานซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลพนักงานด้วย

สำหรับปี 2568 นี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% รายได้รวมใน 3 ปี เติบโตกว่า 35,000 ล้านบาท โดยในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เราตระหนักถึงความเร่งด่วนของวิกฤติสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการพร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมในไทย ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในเวทีโลก