Phones





BPP ไตรมาสแรกปี 68 กำไรสุทธิ 574 ล้านบาท

2025-05-20 08:55:25 49



นิวส์ คอนเน็คท์ - BPP ผลประกอบการไตรมาส 1/68 กำไรสุทธิ 574 ล้านบาท ขณะที่ EBITDA รวม 1,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 286 ล้านบาท หรือ 19% จากผลดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนที่บริหารต้นทุนถ่านหินได้ดี และรายได้จากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น  

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังเผชิญความผันผวน และมีการปรับขึ้นภาษีทางการค้าระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่ BPP ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโต ด้วยจุดแข็งจากการกระจายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่สมดุล และเลือกลงทุนในภูมิภาคที่มีการเติบโตมั่นคง โดยเน้นการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในตลาดภายในประเทศเป็นหลัก (Domestic market) ควบคู่กับความร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่น เพื่อเสริมความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนเป้าหมายพลังงานของแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิผล 
 
โดยผลดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำไรสุทธิ 574 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 1,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 286 ล้านบาท หรือ 19% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนที่บริหารต้นทุนถ่านหินได้ดี และรายได้จากการขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CEAs) ที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งประสบความสำเร็จในการใช้ชีวมวลสัดส่วน 10% ร่วมกับเชื้อเพลิงหลัก ขณะที่โครงการที่โรงไฟฟ้าโจวผิงอยู่ระหว่างขั้นตอนทดสอบระบบก่อนเปิดดำเนินการ และโรงไฟฟ้าหลวนหนานอยู่ในขั้นตอนการประมูล นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายท่อส่งไอน้ำในจีน สำหรับธุรกิจ Renewables+ ได้ลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มจินหู เฉียนเฟิง (Jinhu Qianfeng Solar Farm) ตั้งอยู่ที่มณฑลเจียงชู ในจีน มีกำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ผสมผสานกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquavoltaic) โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการพลังงานสูง และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569

ด้านโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย ยังคงเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถรักษาค่าความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) ในระดับสูงที่ร้อยละ 81 ทั้งสองแห่ง ขณะที่ในญี่ปุ่น ธุรกิจซื้อขายพลังงานมีผลการดำเนินงานโดดเด่น ด้วยปริมาณซื้อขายรวม 2,020 กิกะวัตต์ชั่วโมงในไตรมาสแรก พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Grid-Scale BESS) แห่งแรกในกรุงโตเกียว ผ่านการดำเนินงานของ Banpu NEXT มีกำลังการกักเก็บ 8 เมกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เสริมเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้า และตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่เติบโตต่อเนื่องในท้องถิ่น

ส่วนในสหรัฐฯ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ยังคงเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ในตลาดพลังงานเสรี ERCOT มีแนวโน้มลดลงภายใน 2569 จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาไฟฟ้าในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นส่งผลเชิงบวกต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง